ปรึกษาเรื่องเอดส์และท้องไม่พร้อม โทร 1663

เสนอดึง 3 บาทจากงบสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรค ลดท้องไม่พร้อม

By nuttynui 12 ก.พ 2562 11:33:31

วันที่ 8 ก.พ. 2562 เวลา 11.00 น. สายด่วนปรึกษาเอดส์และท้องไม่พร้อม 1663 จัดแถลงข่าวสถานการณ์ผู้รับบริการปรึกษาเรื่องท้องไม่พร้อมในรอบปีที่ผ่านมา และข้อเสนอการแก้ไขปัญหาต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้องผ่านทางเฟซบุ๊กแฟนเพจ 1663 ณ สำนักงานมูลนิธิเข้าถึงเอดส์

นางสาวอัชรา แก้วประดิษฐ์ หัวหน้าฝ่ายปฏิบัติการสายด่วนฯ กล่าวถึงจำนวนผู้รับบริการปรึกษาเรื่องท้องไม่พร้อมระหว่างวันที่ 1 ม.ค. – 31 ธ.ค. 61 ว่ามีผู้รับบริการทั้งสิ้น 26,721 ราย เพิ่มขึ้นจากปี 2560 ถึงร้อยละ 38.34 และกว่าร้อยละ 30 เป็นเยาวชน ซึ่งจากจำนวนผู้รับบริการทั้งหมด มีผู้รับบริการที่ตั้งครรภ์แล้ว 18,486 ราย หรือร้อยละ 69.18 โดยผู้รับบริการจำนวน 2,083 ราย ไม่เคยคุมกำเนิดมาก่อน ส่งผลให้ตั้งครรภ์ถึงร้อยละ 65.58 หรือจำนวน 1,366 ราย

“วิธีคุมกำเนิดที่ผู้รับบริการใช้มาก 3 อันดับคือ ยาคุมแบบรายเดือน ยาคุมฉุกเฉิน และวิธีหลั่งนอก ซึ่งยาคุมฉุกเฉิน และวิธีหลั่งนอก ไม่ใช่วิธีที่มีประสิทธิภาพในการคุมกำเนิด แต่หลังได้รับบริการปรึกษาแล้ว ผู้รับบริการส่วนใหญ่ต้องการใช้การคุมกำเนิดที่มีประสิทธิภาพมากขึ้นในอนาคต ทั้งการใช้ถุงยางอนามัย ยาคุมแบบรายเดือน และยาฉีดคุมกำเนิด” นางสาวอัชรากล่าว

นางสาวศรัญญา เกตจันทร์ เจ้าหน้าที่ปฏิบัติการสายด่วนฯ กล่าวว่า ในการให้บริการปรึกษาพบว่าปัญหาเรื่องการเข้าถึงบริการคุมกำเนิดมักเกิดกับผู้รับบริการที่อายุมากกว่า 20 ปี เนื่องจากผู้รับบริการที่อายุน้อย หรือต่ำกว่า 20 ปีจะได้สิทธิคุมกำเนิดตามที่พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น พ.ศ.2559 ระบุไว้ โดยผู้รับบริการที่อายุมากกว่า 20 ปีและต้องการคุมกำเนิดแบบกึ่งถาวร เช่น ฝังยาคุมกำเนิด มักถูกโรงพยาบาลเสนอทางเลือกอื่นให้ เช่น ยาฉีดคุมกำเนิด แต่หากยืนยันจะฝังยาคุมก็จะต้องเสียค่าใช้จ่ายเอง หรือได้รับคำตอบว่าโรงพยาบาลไม่มีบริการดังกล่าวให้ ทั้งผู้ที่โทรมาปรึกษาประมาณ 1 ใน 4 ก็มีฐานะทางเศรษฐกิจไม่ดี ทำให้พบปัญหาการท้องซ้ำโดยไม่พร้อมด้วย

ด้านนายสมวงศ์ อุไรวัฒนา รองผู้อำนวยการมูลนิธิเข้าถึงเอดส์ และผู้รับผิดชอบโครงการสายด่วนฯ ให้ความเห็นว่า ข้อมูลของสายด่วนฯ พบว่า มีผู้ตัดสินใจเลือกวิธีการคุมกำเนิดด้วยถุงยางอนามัยสูงที่สุด แต่จากการสำรวจราคาถุงยางอนามัยที่ร้านสะดวกซื้อต่างๆ พบว่า ถุงยางฯ ที่ราคาถูกที่สุด มีราคากล่องละ 37 - 45 บาท จำนวน 3 ชิ้น หรือชิ้นละประมาณ 12 – 15 บาท และไม่แบ่งขาย ซึ่งมีราคาแพงเกินกว่าที่คนจำนวนมากจะซื้อถุงยางฯ ใช้ได้ทุกครั้งที่มีเพศสัมพันธ์

“ประเทศไทยต้องจริงจังกับการป้องกันสิ่งที่ตามมาจากการมีเพศสัมพันธ์ที่ไม่ปลอดภัย ทั้งเรื่องท้องไม่พร้อมและโรคติดต่อ ซึ่งโดยหลักการ ผู้หญิงทุกคนต้องได้รับสิทธิที่จะเลือกวิธีการคุมกำเนิดของตัวเอง เพราะจะเป็นคนที่รู้ดีที่สุดว่า วิธีคุมกำเนิดแบบไหนที่เหมาะสมกับวิถีชีวิตของตัวเอง” นายสมวงศ์กล่าวและว่า งบสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรค (งบ PP) ที่สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) จัดสรรให้กับทุกคน ทุกสิทธิในปี 2562 จำนวน 318.98 บาท/คน/ปี สำหรับประชากร 65.700 ล้านคน ซึ่งรวมการคุมกำเนิดทุกวิธีด้วย แต่เนื่องจากการคุมกำเนิดกึ่งถาวร โดยเฉพาะยาฝังคุมกำเนิดมีค่าใช้จ่ายสูง สปสช.จึงได้สนับสนุนงบประมาณเพิ่มเติมให้กับหน่วยบริการที่เรียกว่า PP Fee schedule อีก ซึ่งรวมถึงการคุมกำเนิดกึ่งถาวรกรณียุติการตั้งครรภ์ในผู้หญิงที่อายุมากกว่า 20 ปี
 
“โรงพยาบาลหรือ รพ.สต.ส่วนใหญ่มีแต่ยาฉีดคุมกำเนิดกับยาคุมแบบรายเดือน และไม่ใช้งบ PP มาจัดสรรซื้อถุงยางอนามัย ยาฝังคุมกำเนิดและห่วงอนามัยด้วยเหตุผลหลายประการ ดังนั้น ผมขอเสนอให้ สปสช.หรือกระทรวงสาธารณสุข ต้องเข้ามามีบทบาทจัดการ จัดสรรส่วนหนึ่งของงบ PP ซื้อถุงยางอนามัย เพื่อแจกจ่ายประชาชนให้พอเพียง และยาฝังคุมกำเนิดสำหรับผู้หญิงที่อายุมากกว่า 20 ปี โดยไม่จำเป็นต้องรอให้ทำแท้งมาก่อนแล้วค่อยได้สิทธิฝังยาคุม จากนั้นกระจายให้กับทุกโรงพยาบาล โดยดึงงบประมาณเพียง 3 บาทต่อประชากร 1 คน ประเทศก็จะมีงบประมาณจัดซื้อถุงยางและยาฝังคุมกำเนิดประมาณ 200 ล้านบาท หากต้นทุนถุงยางอยู่ที่ชิ้นละ 1.50 บาท สามารถแบ่งงบประมาณ 100 ล้านบาทสำหรับยาฝังคุมกำเนิด และ 100 ล้านบาทมาซื้อถุงยางฯ และเราจะมีถุงยางเกือบ 70 ล้านชิ้นกระจายให้กับทุกโรงพยาบาล ซึ่งถือว่าเป็นงบประมาณที่น้อยมาก หากเทียบกับค่ารักษาพยาบาลกรณีบาดเจ็บจากการยุติการตั้งครรภ์และโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์” รองผู้อำนวยการมูลนิธิเข้าถึงเอดส์ กล่าว 
-->