ปรึกษาเรื่องเอดส์และท้องไม่พร้อม โทร 1663

เอดส์กับดักอคติและความไม่รู้ (ยาวนิด แต่อ่านหน่อย )

By nuttynui 5 ก.ย 2561 13:37:48

กรณีหญิงสาวเสียชีวิตด้วยอาการป่วยเอดส์ และมีกระแสข่าวว่าเป็นเพราะไปสักตามร่างกายจนทำให้ติดเชื้อเอชไอวี พอเป็นประเด็นสื่อต่างๆก็แข่งกันหาคำตอบ ซึ่งส่วนใหญ่ก็หนีไม่พ้นคนในแวดวงสาธารณสุข แต่...คำตอบที่ออกมา กลับยิ่งสร้างความสับสน อาจจะด้วยความไม่รู้จริงๆ เป็นองค์ความรู้เก่า หรืออะไรก็แล้วแต่ การที่ออกมาพูดว่า “การสัก” ทำให้เสี่ยงต่อการติดเชื้อเอชไอวี บางสื่อถึงกับพาดหัวว่า “เสี่ยงกว่ามีเพศสัมพันธ์โดยไม่ป้องกัน” เป็นการพูดแบบไม่มีข้อเท็จจริงและขาดหลักการสิ้นเชิง
บอกเลยว่าเรื่องเอดส์นี่ ถ้าไม่ได้คลุกคลีตีโมง ต่อให้เป็นหมอก็มีพลาดได้ ลองมาทำความเข้าใจไปด้วยกันทีละเรื่องนะ

1. เอดส์ กับ เอชไอวีต่างกัน เอดส์คืออาการป่วยด้วยโรคแทรกซ้อนต่างๆที่เกิดจากภูมิคุ้มกันในร่างกายถูกทำลาย ด้วยไวรัสเอชไอวี ส่วนเอชไอวีคือเชื้อไวรัสสาเหตุที่ทำให้ป่วยเอดส์ ดังนั้นเวลาเรียกก็เรียกให้ถูก ผู้ติดเชื้อเอชไอวี ที่ไม่มีอาการป่วยเราไม่เรียกผู้ป่วยเอดส์นะ

2. การติดเชื้อเอชไอวี ไม่ได้ทำให้ป่วยทันที เพราะกว่าไวรัสเอชไอวีจะทำลายภูมิคุ้มกันจนทำให้ป่วยเอดส์ได้ ใช้เวลาหลายปี บางคนเป็น 10 ปียังไม่ป่วยก็มี ที่เห็นป่วยๆกันส่วนใหญ่ไม่รู้ตัวว่าติดเชื้อฯมาก่อน มารู้เมื่อป่วยแล้ว

3. เอชไอวีติดต่อกันยังไง หลายคนท่องได้ว่า “ติดต่อได้ 3 ทาง คือทางเลือด เพศสัมพันธ์ และกรณีทารกที่คลอดจากแม่ที่ติดเชื้อฯ ท่องกันแค่นี้ไม่พอนะ เพราะหลายคนนึกภาพไม่ออกว่าแบบไหน โดยเฉพาะทางเลือด รู้แต่ว่าต้องมีแผล ทีนี้ก็จินตนาการกันใหญ่ แผลเล็ก แผลน้อย มีเลือดบ้าง ถลอกบ้าง ก็พากันกลัว กังวลว่าจะทำให้ติดเชื้อ 

มีหลักการสากลที่อธิบายกันง่ายๆว่าแบบไหนมีโอกาสเสี่ยงติดเชื้อ แบบไหนไม่มีโอกาส คนทำงานทั่วโลกรู้จักหลักการนี้ในชื่อเล่นว่า QQR ย่อมาจาก Quality Quantity และRoute of Transmission 

Q แรกคือคุณภาพของเชื้อ ซึ่งหมายถึงเอชไอวีจะมีชีวิตได้ในสารคัดหลั่งในตัวคนเท่านั้น (เชื้อไม่สามารถอาศัยในสัตว์เช่น ยุง ได้) ซึ่งสารที่ว่ามีเพียง น้ำไขสันหลัง เลือด น้ำอสุจิ น้ำในช่องคลอด ส่วนน้ำลายไม่มีเชื้อ แต่หลายคนก็ถามว่าแล้วทำไมตรวจหาเชื้อทางน้ำลายได้ การตรวจเชื้อทางน้ำลายที่ว่า เป็นการใช้อุปกรณ์ปาด หรือขูดเบาๆตามกระพุ้งแก้ม ซึ่งจะมีเนื้อเยื่ออ่อนๆออกมาด้วย จึงทำให้ตรวจได้ แต่การตรวจเพื่อหาเชื้อเอชไอวี ที่ยืนยันได้แน่ชัดคือการตรวจเลือดเท่านั้น

Q ที่สองคือปริมาณของเชื้อ เอชไอวีจะเกาะอยู่กับเม็ดเลือดขาวซึ่งจะมีปะปนในสารคัดหลั่งตาม Q แรก ดังนั้นการที่ใครสักคนจะติดเชื้อเอชไอวีได้ ต้องได้รับสารคัดหลั่งที่มีเชื้อฯปนมาในปริมาณที่มากพอ ที่สำคัญเอชไอวีเมื่อออกมานอกร่างกายเพียงไม่กี่วินาทีก็ตายแล้ว ยิ่งเมื่อเจออากาศ สารเคมี น้ำยาล้างห้องน้ำ ฯลฯ

R คือช่องทางออกและเข้าสู่ร่างกาย หมายถึงคนที่มีเชื้อก็ต้องหลั่งสารคัดหลั่งเข้าสู่ร่างกายของอีกคนโดยตรง เช่นการใช้เข็มฉีดยาเสพติดร่วมกันต่อๆกัน หรือการมีเพศสัมพันธ์แบบสอดใส่และหลั่งข้างในเป็นต้น

ถ้าขาดข้อใดข้อหนึ่งใน 3 ช่องทางนี้ถือว่าไม่เสี่ยงต่อการรับเชื้อ 
ลองมาดูกัน กรณีการสักลาย “อาจจะมีเลือดติดที่ปลายเข็ม (กรณีเป็นเข็มสักแบบเก่า) ปริมาณเลือดที่ออกไม่มาก ซิบๆติดปลายเข็ม แถมเข็มนี้ยังต้องจุ่มสีซึ่งเป็นสารเคมี ถ้ามีเชื้อติดมากับเลือดจริงแค่นี้ก็ตายแล้ว ที่สำคัญกว่าจะเอามาใช้กับอีกคน ก็ทิ้งช่วงพอควรและเชื่อได้ว่าต้องมีการเช็ดล้างด้วยแอลกอฮอล์กันบ้าง” แบบนี้โอกาสเสี่ยงติดเชื้อฯไม่มีเลย  ยิ่งเป็นเครื่องสักลายยิ่งแล้วใหญ่ ปริมาณเลือดที่จะออกมายิ่งน้อยมาก หลักการก็อันเดียวกัน ช่องทางที่จะเข้าสู่ร่างกายอีกคนยิ่งไม่มี เพราะแผลสักลายไม่ได้เป็นแผลเปิดฉกรรจ์จนมีเลือดไหล เป็นได้เพียงรอยถลอกเป็นจ้ำเท่านั้น 

ใครกังวลว่าจะเสี่ยงทางไหน ลองใช้หลักการนี้มาจับประเมินความเสี่ยงตัวเองดูนะ แต่ที่แน่ๆความเสี่ยงต่อการรับเชื้อเอชไอวีเกิน 80% รับเชื้อจากการมีเซ็กส์แบบสอดใส่โดยไม่ป้องกันด้วยถุงยางอนามัย   ที่เหลือเป็นกรณีผู้ใช้เข็มฉีดยาเสพติดร่วมกัน และเด็กที่ติดเชื้อเมื่อแรกคลอดเท่านั้น
-->